Sunday, 7 November 2010

สมุดภาพปฐมโพธิกถา



สมุดภาพปฐมโพธิกถา


วรรณคดีพระพุทธศาสนาพากษ์ไทย คัมภีร์แสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

ภาพจิตรกรรมทั้งหมดที่ปรากฎบนหนังสือปฐมโพธิกถาเล่มนี้ ได้รับการบรรจงสร้างสรรค์ด้วยความวิจิตรปราณีตด้วยจิตอันบริสุทธิ์ของศิลปินเพื่อจารึกไว้ในบรรณพิภพและสนอง พระมหากรุณาธิคุณแห่ะพระบรมศาสดาให้เจริญแพร่หลายในบรรณพิภพ ด้วยการสร้างสรรค์วิจิตรกรรมของจิตรกรผู้มีพระคุณชื่อ อาจารย์ กฤษณะ สุริยกานต์


29 ปริเฉท อย่างย่อ

(ที่มาจากมหาลัยศิลปากร)


พุทธประวัติ เริ่มเรื่องตั้งแต่ปริเฉทที่ 1 เรื่อยไปจนถึงปริเฉทที่ 29 ดังจะกล่าวถึงรายละเอียดแต่ละปริเฉทโดยย่อตามลำดับ ดังนี้


ปริเฉทที่ 1 วิวาหมงคลปริวรรต กล่าวถึงความเป็นมาของวงศ์ทางพระชนกและพระชนนีของเจ้าชายสิทธัตถะ คือพระเจ้าสุทโธทนะ (ศากยวงศ์) และพระนางศิริมหามายา(โกลิยวงศ์) เป็นลำดับ จนถึงตอนอภิเษกสมรสของทั้ง 2 พระองค์




ปริเฉทที่ 2 ดุสิตปริวรรต กล่าวถึงเทพยดาทั้งหลายอันมีท้าวมหาพรหมเป็นประธานได้อัญเชิญโพธิสัตว์จุติลงสู่พระครรภ์ของพระนางศิริมหามายา




ปริเฉทที่ 3 คัพภานิกขมนปริวรรต กล่าวถึงพระนางศิริมหามายาประสูติพระราชโอรส ณ. สวนลุมพินีวันพร้อมด้วยสหชาติทั้ง 7 คือ นางพิมพา (อัครมเหสี) พระอานนท์ (พุทธอุปัฏฐาก) นายฉันนะ (ผู้นำเสด็จออกผนวช) ม้ากัณฐกะอัศวราช (ม้าที่นำเสด็จออกผนวช) ไม้มหาโพธิ์ (ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้) ขุมทองทั้ง 4 และกาฬุทายีอำมาตย์ (ผู้อัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธบิดา)





ปริเฉทที่ 4 ลักขณปริคคาหกปริวรรต กล่าวถึงสิทธัตถะกุมารทรงทำปาฏิหารย์เสด็จขึ้นไปยืนบนชฎาของกาฬเทวิลดาบสหลังประสูติได้ 5 วัน ต่อมาพระราชบิดาได้เชิญพราหมณ์ผู้ทรงวิชา 8 คนมาทำนายลักษณะของพระกุมาร การทำนายในครั้งนั้นพราหมณ์ 7 คนได้ทำนายเป็นอย่างเดียวกันว่า หากพระกุมารอยู่ในเพศฆราวาสจะได้เป็นพระมหาจักพรรดิ์แต่หากบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระศาสดา มีโกณฑัญญะพราหมณ์ผู้เดียวที่ถวายคำทำนายเป็นอย่างเดียวว่าพระกุมารจะเสด็จออกผนวชและได้บรรลุโพธิสมภาณ





ปริเฉทที่ 5 ราชาภิเษกปริวรรต กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะหลังประสูติได้ 7 วันแล้วได้บังเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิตตามประเพณีของพุทธมารดา พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งตั้งพระทัยจะให้สิทธัตถะกุมารได้เป็นพระมหาจักพรรดิ์จึงบำรุงบำเรอความสุขทุกประการต่อโอรส โดยสร้างปราสาท 3 ฤดูประทานและได้ตรัสขอพระราชธิดาจากพระญาติให้ เมื่อเจ้าชายมีพระชนมายุได้ 16 พรรษาได้ประลองศิลปศาสตร์ให้เป็นที่ประจักต่อพระญาติทั้งหลาย ทั้งหมดจึงพร้อมใจกันยกพระราชธิดารวม 40,000 นางให้เป็นชายา เจ้าชายสิทธัตถะได้ยกพระนางพิมพาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี




ปริเฉทที่ 6 มหาภินิกขมณปริวรรต เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุได้ 29 พรรษา ได้เสด็จประพาสอุทยานพบกับคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะที่เทวดานิมิต ทรงสังเวชพระทัยจึงตัดสินใจออกผนวชในคืนวันนั้น ก่อนออกผนวชพระองค์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรพระราหุล โอรสที่เพิ่งประสูติและพระนางพิมพาพระชายาแล้วจึงเสด็จพร้อมด้วยนายฉันนะและม้ากัณฐกะ เมื่อถึงริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราจึงได้ตัดพระเกศาลาเพศฆราวาส พระอินทร์จึงอัญเชิญพระเกศานั้นไปประดิษฐานยังเจดีย์จุฬามณีบนดาวดึงส์สวรรค์ ฝ่ายท้าวฆฎิกาพรหมได้นำอัฐบริขารทั้ง 8 มาถวาย พร้อมทั้งอัญเชิญพระภูษาไปประดิษฐานยังทุสสเจดีย์บนพรหมโลก










ปริเฉทที่ 7 ทุกรกิริยาปริวรรต นายฉันนะและม้ากัณฐกะนำอาภรณ์ของสิทธัตถะกลับกรุงกบิลพัสดุ์แต่ม้ากัณฐกะอกแตกตายด้วยความเศร้าก่อนถึงพระนคร ข้างฝ่ายพระสิทธัตถะได้เข้าศึกษายังสำนักต่างๆแต่ไม่พบหนทางตรัสรู้ จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาพบกับพราหมณ์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ พราหมณ์ทั้ง 5 ได้ปรนนิบัติพระองค์ขณะที่ทรงกระทำทุกรกิริยาเป็นเวลา 6 พรรษา แต่ด้วยการกระทำที่ตึงจนเกินไปนี้พระอินทร์จึงได้ดีดพิณ 3 สายถวายเพื่อชี้ให้เห็นถึงทางสายกลาง ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เลิกกระทำทุกรกริยาแล้วพราหมณ์ทั้งหมดจึงละทิ้งพระองค์ไป





ปริเฉทที่ 8 พุทธบูชาปริวรรต กล่าวถึงนางสุชาดาและบริวารได้หุงข้าวมธุปายาสถวายต่อพระสิทธัตถะ หลังจากพระพุทธองค์เสวยแล้วได้ทรงลอยถาดที่ใส่ของถวายพร้อมทั้งตั้งอธิฐานจิตหากได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขอให้ถาดนั้นลอยทวนกระแสน้ำ ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำตามที่ทรงอธิษฐานราว 80 ศอกจึงจมลงสู่วิมานของพระยานาคราชกระทบกับถาดของพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ที่เคยอธิษฐานไว้เช่นเดียวกัน




ปริเฉทที่ 9 มารวิชัยปริวรรต พระยาวัสดีมารได้ยกกองทัพมารมาสำแดงอิทธิฤทธิ์นานัปการจนเทวดาที่มาเฝ้าแหนชื่นชมบารมีต่างหลบหนีไปสิ้น พระสิทธัตถะจึงเหยียดนิ้วพระหัตถ์ลงธรณี เรียกพระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยานการประกอบทานบารมีของพระองค์ในอดีตชาติ พระแม่ธรณีจึงปรากฏเฉพาะพระพักตร์บิดเอาน้ำจากพระโมฬีที่สิทธัตถะเคยหลั่งทักษิโณทกใหลท่วมจนกองทัพมารแตกพ่ายไป




ปริเฉทที่ 10 อภิสัมโพธิปริวรรต พระสิทธัตถะทรงประทับสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน 6 ยามปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม พิจารณาญาณต่างๆจนตรัสรู้อริยสัจ 4


ปริเฉทที่ 11 โพธิสัพพัญญูปริวรรต ภายหลังตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุติสุข ณ. สัตตมหาสถานทั้ง 7 แห่ง แห่งละสัปดาห์ ดังนี้

สัปดาห์ที่ 1 ประทับบนรัตนบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ท่ามกลางเทพยดาที่มาชื่นชมบารมี




สัปดาห์ที่ 2 ประทับลืมพระเนตรพิจารณามหาโพธิบัลลังก์ (อนิมิสเจดีย์)

สัปดาห์ที่ 3 ประทับจงกรม

สัปดาห์ที่ 4 ประทับนั่งในเรือนพิจารณาหลักธรรมจนบังเกิดฉัพพรรณรังสีรอบพระวรกาย

สัปดาห์ที่ 5 ประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นอัชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ในครั้งนี้ธิดาพระยาวัสดีมารได้เข้ายั่วยวนด้วยกิเลสทั้งปวงแต่พระพุทธองค์ทรงขับไล่จนแตกพ่ายไป




สัปดาห์ที่ 6 ประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ครั้นประทับอยู่ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก พระยานาคมุจลินท์จึงขึ้นมาแผ่พังพานปกคลุมพระวรกาย หลังฝนหยุดตกแล้ว จึงแปลงกายเป็นหนุ่มน้อยถวายอัญชลีต่อพระพุทธองค์




สัปดาห์ที่ 7 ประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นราชายตนะพฤก พระอินทร์ได้ลงมาถวายผลสมออันเป็นทิพย์โอสถ และในสัปดาห์นี้พานิช 2 พี่น้องคือ ตปุสสะและภัลลิกะได้นำสตุก้อนและสตุผงมาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับสตุนั้นด้วยบาตรที่ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ได้นำมาถวายโดยสมานให้เป็นใบเดียว




ปริเฉทที่ 12 พรหมัชเฌสนปริวรรต ท้าวสหัมบดีพรหมและเหล่าเทวดาลงมาอาราธนาพระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดสัตว์ทั้งหลาย


ปริเฉทที่ 13 ธัมมจักกปริวรรต พระพุทธองค์เสด็จสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีจนบรรลุโพธิญาณ




ปริเฉทที่ 14 ยสบรรพชาปริวรรต กล่าวถึงยสะบุตรของเศรษฐีผู้หนึ่งซึ่งเกิดความเบื่อหน่ายในกามคุณ ได้ดำเนินไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันพบกับพระพุทธองค์ที่กำลังจงกรมอยู่ พระพุทธองค์ได้เทศนาอริยสัจ 4 โปรดยสะจนได้ดวงตาเห็นธรรมขอบรรพชาเป็นพระสงฆ์สาวกในพุทธศาสนา ฝ่ายบิดาของพระยสะได้ออกตามหาบุตรครั้นเห็นรองเท้าวางอยู่ในที่ประทับของพระพุทธองค์จึงเข้าไปอภิวาท พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโปรดบิดาแห่งพระยสะจนบรรลุโสดาบัน บิดาของพระยสะจึงประกาศตนเป็นปฐมอุบาสกในพุทธศาสนา เศรษฐีได้อาราธนาพระพุทธเจ้าและพระยสะเข้าไปฉันอาหารยังเคหะสถาน ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้เทศนาโปรดมารดา ภรรยา และเหล่าสหายของพระยสะจนบรรลุโสดาบัน มารดาและภรรยาของพระยสะจึงประกาศตนเป็นปฐมอุบาสิกาคู่แรก ฝ่ายสหายของพระยสะต่างบรรพชาเป็นสาวกของพระพุทธองค์




ปริเฉทที่ 15 อุรุเวลคมนปริวรรต กล่าวถึง พระพุทธองค์ทรงโปรดชฎิล 3 พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ ชฎิลทั้ง 3 ล้วนมีทิฐิต่อพระพุทธองค์จึงทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบจนทั้ง 3 ยอมแพ้ขออุปสมบทพร้อมด้วยเหล่าบริวาร


ปริเฉทที่ 16 อัครสาวสกบรรพชาปริวรรต ครั้งนั้นอุปติสะกับโกลิตะบุตรพราหมณ์ได้เลื่อมใสในพุทธศาสนาจึงพากันมาพร้อมด้วยบริวารเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขออุปสมบท ภายหลังอุปสมบทแล้วอุปติสะได้นามว่าพระสารีบุตร ส่วนโกลิตะได้นามว่าพระโมคคัลลานะ พระที่บวชในคราวนั้นล้วนแต่บรรลุอรหันต์ก่อนทั้งหมด ยกเว้นพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะที่บรรลุในภายหลัง




ปริเฉทที่ 17 กปิลวัตถุคมณปริวรรต เมื่อพุทธบิดาสุทโธทนะทราบข่าวพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ จึงได้ส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารมาอาราธนาทูลเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ถึง 9 ครั้ง เนื่องด้วยอำมาตย์และบริวารเหล่านั้นต่างศรัทธาในพุทธศาสนาขออุปสมบทเสียทุกครั้ง ในครั้งที่ 9 กาฬุทายีอำมาตย์พร้อมบริวารก็ได้อุปสมบทเช่นเดียวกันแต่หลังจากอุปสมบทแล้ว 7 วันได้ทูลเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพุทธบิดา พระพุทธองค์ได้ตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องมหาเวสสันดรชาดกประทานพุทธบิดาและเหล่าประยูรญาติ


ปริเฉทที่ 18 พิมพาพิลาปปริวรรต พระนางพิมพาได้ชี้แนะให้พระราหุลโอรสทอดพระเนตรพุทธบิดาขณะกำลังบิณฑบาตในกรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทราบดังนั้นจึงทูลเชิญพระพุทธเจ้าเข้าบิณฑบาตภายในเคหะสถาน นางพิมพาทรงน้อยพระทัยที่พระพุทธองค์ทอดทิ้ง จึงไม่ออกมาเข้าเฝ้า พระพุทธองค์จึงแสดงธรรมเทศนาจันทกินรชาดกโปรดนางพิมพาจนบรรลุโสดาบัน




ปริเฉทที่ 19 สักยบรรพชาปริวรรต เหล่าประยูรญาติของพระพุทธจ้า ทั้งพระอานนท์ พุทธอนุชา พระราหุลโอรส พระเทวทัตต์และอีกหลายพระองค์ได้ทูลขออุปสมบท ต่อมาพระเทวทัตต์คิดร้ายต่อพระพุทธองค์กลิ้งหินลงมาจากเขาคิชกูฏจนข้อพระบาทห้อพระโลหิต อีกทั้งยังปล่อยช้างนาฬาคีรีประทุษร้ายขณะทรงบิณฑบาต ท้ายที่สุดพระเทวทัตต์จึงถูกแผ่นดินสูบจมหายไป


ปริเฉทที่ 20 เมตตไตยพยากรณ์ปริวรรต พระเมตไตยโพธิสัตว์ซึ่งถือกำเนิดเป็นโอรสของพระเจ้าอชาตศัตูมีนามว่าอชิตกุมาร ต่อมาได้อุปสมบทและได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป


ปริเฉทที่ 21 พุทธปิตุนิพพานปริวรรต ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทราบว่าพุทธบิดาประชวรหนักจึงเสด็จไปเยี่ยมและแสดงธรรมถวายจนบรรลุอรหันต์ก่อนนิพพาน ต่อมาพระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาติให้สตรีสามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้จากการทูลอ้อนวอนขอของพระอานนท์


ปริเฉทที่ 22 ยมกปาฎิหารย์ปรวรรต เศรษฐีแห่งกรุงราชคฤห์ได้ประกาศท้าให้พระผู้สำเร็จอรหันต์เหาะขึ้นไปเอาบาตรที่แขวนอยู่บนยอดไม้ พวกเดียรถีย์ได้ขันอาสาแต่ไม่สามารถเหาะได้ พระบิณโฑลภารทวาชและพระโมคคัลลานะจึงได้แสดงปาฏิหาริย์เหาะนำบาตรนั้นลงมา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงทรงห้ามปรามไม่ให้ภิกษุสงฆ์แสดงปาฏิหารย์อีกต่อไป ฝ่ายเดียรถีย์ซึ่งเหาะไม่ได้แต่ได้พูดโอ้อวดตนไม่ลดละ พระพุทธเจ้าจึงตรัสจะกระทำปาฏิหาริย์ให้ประจักษ์ในวันเพ็ญเดือน 8 ใต้ต้นมะม่วง ณ. กรุงสาวัตถี เมื่อถึงกำหนดพระพุทธองค์ จึงเสด็จจงกรมกระทำยมกปาฏิหาริย์ปราบเหล่าเดียรถีย์จนหลบหนีไป


ปริเฉทที่ 23 เทศนาปริวรรต พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปยังดาวดึงส์สวรรค์เพื่อรอพระอินทร์อัญเชิญพุทธมารดาลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต แล้วจึงแสดงธรรมเรื่องสัตตปกรณาภิธรรมโปรดพุทธมารดาจนบรรลุโสดาบัน


ปริเฉทที่ 24 เทโวโรหนปริวรรต พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาบนดาวดึงส์สวรรค์เป็นเวลา 3 เดือนจึงเสด็จลง ในครั้งนั้นพระอินทร์ได้เนรมิตบันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้วพาดจากยอดเขาพระสุเมรุลงสู่เมืองสังกัสสะ และเสด็จพร้อมด้วยพระพรหมและเทวดาทั้งหลายมาส่งเสด็จ




ปริเฉทที่ 25 อัครสาวกนิพพานปริวรรต ในพรรษาที่ 45 ของพระพุทธองค์ พระสารีบุตรได้กราบลากลับบ้านเกิดเพื่อเยี่ยมเยียนพระมารดาและทูลขอนิพพาน ฝ่ายพระโมคคัลลานะ ได้ประสบกรรมเก่าถูกพวกโจรทุบตีจนกระดูกแหลกจึงทูลลานิพพานต่อพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน


ปริเฉทที่ 26 มหาปรินิพพานปริวรรต เมื่อพระพุทธองค์มีพระชนม์ 80 พรรษา พระยาวัสดีมารได้ทูลอาราธนาให้เสด็จสู่นิพพาน พระพุทธองค์ตรัสรับนิพพานนั้น เมื่อครบกำหนด 3 เดือนจึงเสด็จนิพพาน ณ. กรุงกุสินาราในวันเพ็ญเดือน 6




ปริเฉทที่ 27 ธาตุวิภัชนน์ปริวรรต ในวาระที่ถวายเพลิงพระศพของพระพุทธองค์ไม่สามารถจุดไฟให้ติดได้ จนกระทั่งพระมหากัสสปะได้มากราบพระบาทไฟจึงจุดติด หลังถวายเพลิงพระศพแล้ว โทณพราหมณ์ทำหน้าที่แบ่งพระธาตุให้กับกษัตริย์ทั้งหลายแต่ตนเองกลับ ซุกซ่อนพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาไว้ที่มวยผม พระอินทร์จึงลอบหยิบพระเขี้ยวแก้วนั้นอัญเชิญไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์บนดาวดึงส์สวรรค์ซึ่งบรรจุพระเกษาของพระพุทธองค์ครั้งทรงผนวช


ปริเฉทที่ 28 มารพันธปริวรรต พระมหากัสสปะเกรงว่าพระสารีริกธาตุจะมีอันตรายจึงปรึกษากับพระเจ้าอชาตศรัตรูสร้างเจดีย์ครอบไว้ หลังจากนั้นอีก 218 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้รื้อสถูปและนำพระธาตุนั้นแจกจ่ายไปประดิษฐานตามเมืองต่างๆพร้อมทั้งสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เหลือ พระยาวัสดีมารจะเข้าทำลายพิธีเหล่าภิกษุสงฆ์จึงอัญเชิญพระอุปคุปต์มาปราบปราม


ปริเฉทที่ 29 ธาตุอันตรธานปริวรรต กล่าวถึงการเสื่อมสูญของพุทธศาสนาอันเกิดจาก

สาเหตุ 5 ประการ คือ

1. ภิกษุทั้งหลายขัดสนด้วยจตุปัจจัย พระไตรปิฎกไม่มีใครเรียนรู้

2. ภิกษุเกิดความเหนื่อยหน่ายที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์

3. เมื่อการปฏิบัติเสื่อมลงจะไม่มีผู้ใดบรรลุโสดาบัน

4. เมื่อภิกษุเสื่อมสูญมารยาท ผู้คนสิ้นความเลื่อมใสต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น

5. เมื่อความศรัทธาเสื่อมถอยไปหมดไม่มีใครบูชาพระธาตุที่ประดิษฐานในสถูปเจดีย์ต่างๆ

No comments:

Post a Comment