จากการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่อ้างว่าเป็นแบบสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง จนเกิดเหตุการณ์ที่บานปลายที่เกิดขึ้น เราชาวกรุงเทพฯ รวมถึงชาวไทยทั่วประเทศคงคาดไม่ถึงกับเหตุการณ์และความสูญเสียที่เกิดขึ้น หนึ่งในนี้คือโรงภาพยนตร์สยามที่เปิดมานานเกือบห้าสิบปี ก็ต้องปิดตำนานลงด้วยเพียงเพราะความขัดแย้งทางความคิดทางการเมือง
โรงภาพยนตร์สยาม
จุดก่อกำเนิดของโรงภาพยนตร์ที่สยามสแควร์ เนื่องจากคุณพิสิฐ ตันสัจจา โชว์แมนคนสำคัญของเมืองไทยในขณะนั้น
หลังจากที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากในการทำโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยจากที่เคยเป็นโรงละครมาเป็นโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยที่ทำรายได้มากมาย เป็นผู้ริเริ่มคนแรกในการนำเข้าระบบการฉายภาพยนตร์ในแบบต่างๆ เช่น
- ระบบสามมิติ
- ระบบ ทอคค์ - เอ โอ
- ซีเนมาสโคป
- ซีเนรามา (เลนส์เดียว)
- 70 ม.ม.
- ซีเนรามา ฉายพร้อมกัน 3 เลนส์
โรงภาพยนตร์สยาม
จากความสามารถที่ปรากฏให้เห็นในด้านธุรกิจบันเทิงของคุณพิสิฐ ตันสัจจา จึงทำให้ได้รับการติดต่อจากคุณกอบชัย ซอโสตถิกุล เจ้าของบริษัท เซาท์ อีสเอเซีย ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินบริเวณนี้มาปรับปรุงให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบริษัท เซาท์ อีสเอเซีย ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างอาคารต่างๆ บนที่ดินผืนนี้ คุณพิสิฐ ตันสัจจา มาร่วมด้วยโดยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ทั้งสามโรง
เดิมแต่แรกตอนเริ่มต้นก่อสร้างใหม่ๆ บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ยังไม่มีร้านค้าใดเลย สมัยที่โรงภาพยนตร์โรงแรกเสร็จยังต้องส่งปิ่นโตให้กับพนักงานทาน เพราะแถวนี้ไม่มีร้านอาหารเลย จะต้องไปไกลถึงสามย่าน ซึ่งสมัยนั้นกว่าจะถึงสามย่านก็ต้องใช้เวลานานมากมีรถเมล์น้อยสาย ไม่ทันที่จะกลับมาทำงาน ตามรอบได้ทันเวลา แสงสว่างรอบๆ โรงภาพยนตร์จะต้องใช้ไฟของโรงภาพยนตร์ต่อไปใช้ตามที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาชมภาพยนตร์รอบค่ำ และสมัยนั้นค่าชมภาพยนตร์ราคาตั้งแต่ 10 บาท 15 บาท สูงสุด 30 บาท
โรงภาพยนตร์สยาม 800 ที่นั่ง เปิดฉายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2509 ด้วยเรื่อง "รถถังประจัญบาน" (BATTLE OF THE BULGE) ของบริษัทภาพยนตร์ วอร์เนอร์ บราเดอร์สฯ นำแสดงโดย เฮนรี่ ฟอนด้า, โรเบิร์ต ชอว์ และเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุด มีบันได้เลื่อนขึ้นลงเป็นแห่งแรก
โรงภาพยนตร์สกาล่า
ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2511 เปิดโรงภาพยนตร์ลิโด ที่นั่ง 1,000 ที่ ด้วย ภาพยนตร์เรื่อง "ศึกเซบาสเตียน" (GAMES FOR SAN SEBASTIAN) ของบริษัท เมโทร โควิลด์ฯจำกัด นำแสดงโดย แอนโธนี่ ควินส์ ฯลฯ และต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2512 เปิดโรงภาพยนต์ สกาลา จำนวนที่นั่ง 1,000 ที่ ด้วยภาพยนตร์เรื่อง "สองสิงห์ตะลุยศึก" นำแสดงโดยจอห์น เวนย์, ร็อค ฮัดสัน และ ไท ฮาดีน ฯลฯ เป็นโรงภาพยนตร์ซีเนรามาที่สมบูรณ์ขั้นมาตรฐานโลกแห่งที่ 3 ณ บริเวณศูนย์การค้าแห่งนี้
โรงภาพยนตร์ "สยาม" เดิมทีเดียวตั้งใจจะใช้ชื่อว่าโรงภาพยนตร์ "จุฬา" แต่มีผู้ใหญ่คัดค้านเข้าใจว่าจะเป็น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ บอกว่าเป็นชื่อของพระมหากษัตริย์และเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย ไม่สมควรจะใช้ชื่อเดียวกัน จึงเปลี่ยนเป็น "สยาม"
โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 โรงนี้ เป็นผู้นำในการจัดฉายภาพยนตร์เพื่อการกุศลโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รายได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยทูลเชิญเสด็จล้นเกล้าทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินรอบปฐมทัศน์ อาทิเช่น เรื่อง "OLIVER" และเรื่อง "HELLO DOLLY" และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จรอบปฐมทัศน์ รายได้สมทบทุน "ประชาธิปก" ภาพยนตร์เรื่อง "LOST HORIZON" ฯลฯ
โรงภาพยนตร์ลิโด้
การโฆษณาให้คนรู้จักโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 มากขึ้น ทางผู้บริหารโรงภาพยนตร์ได้จัดพิมพ์หนังสือซึ่งเรียกว่า "สูจิบัตร" ข่าวภาพยนตร์ขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2513 เรียกตุลาบันเทิง
เพราะในสมัยนั้นจัดว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่โก้ที่สุดในเมืองไทย สูจิบัตรนี้แจกฟรีกับผู้ที่มาดูภาพยนตร์จะมีข้อมูลทุกอย่าง ออกเป็นรายเดือน เล่มใหญ่ มีเนื้อหาสาระมากเกี่ยวกับภาพยนตร์ และคำว่า "สยามสแควร์" ที่เป็นที่รู้จักกันมาจนทุกวันนี้มาจากคุณพอใจ ชัยเวฬ เขียนคอลัมน์ ซุบซิบเกี่ยวกับคนบันเทิง และผู้ที่มีชื่อเสียงรู้จักมักคุ้น เขียนเป็นคอลัมน์ "สยามสแควร์" ในหนังสือสูจิบัตรข่าวภาพยนตร์นี้เอง โดยจะมีผู้มีเกียรติเขียนลงในหนังสือเล่มนี้ อาทิเช่น สันตศิริ หรือครูสงบ สวนสิริ, ประมูล อุณหธูป, วิลาศ มณีวัตร, บัวบาน , สุจิตต์ วงษ์เทศ สายัณห์ แห่ง เดลินิวส์, ขรรค์ชัย บุนปาน, เวทย์ บูรณะ, ประจวบ ทองอุไร ฯลฯ
จากหนังสือแจกฟรี ก็มีจดหมายติชม ขอบคุณ ที่ทางผู้บริหารโรงภาพยนตร์ได้มอบสิ่งดีๆ ตอบแทนให้กับผู้มาใช้บริการโรงภาพยนตร์ และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สยามสแควร์ ก็ยังคงเป็นความทันสมัย เป็นสีสรรบันเทิงของคนกรุงเทพฯ เป็นสถานที่สำหรับวัยรุ่นพบปะกัน เป็นแหล่งซื้อหาเสื้อผ้าที่นำสมัย อยู่ตลอดระยะเวลา 36 ปี ทุกอย่างยังคงดำเนินไป และคงเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่เหมือนกับแห่งอื่นคือเป็นผู้นำตลอดมา โดยความร่วมมือร่วมกันของชาวสยามสแควร์ และรวมถึงการสนับสนุนจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
ทุกอย่างมีผู้บริหารคิดทำขึ้นก็เพื่อต้องการให้ผู้รับบริการของเราได้ในสิ่งที่ดี ไม่ถูกการเอาเปรียบ แม้แต่การเลือกภาพยนตร์ในสมัยก่อนจะต้องศึกษาอย่างจริงจังและล่วงหน้าว่าบริษัทฯไหนมีภาพยนตร์ที่ดี, ใหญ่ ก็จะเซ็นสัญญาล่วงหน้ากันไว้ การที่มีโรงภาพยนตร์หลายโรงก็เพื่อต้องการให้มีความหลากหลาย ไม่เหมือนการจัดหนังในปัจจุบันนี้ทุกโรงฉายเหมือนกันหมด
ศูนย์การค้าแต่ละแห่งที่ผ่านๆ มา ก็จะหยุดหายกันไป ไม่มีใครอยู่ได้นานเท่ากับสยามสแควร์แห่งนี้ มองจากโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 โรงดังกล่าวข้างต้นนั้นแล้ว จะเห็นความสวยงามกันคนละแบบ เป็นโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่มีความงามในตัวของเขาเอง แม้ 36 ปีล่วงมาแล้ว
โรงภาพยนตร์สกาลายังคงความสวยงามในด้านสถาปัตยกรรม ผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก และยังคงเป็นที่กล่าวถึงมาจนทุกวันนี้ ซึ่งผู้บริหารโรงภาพยนตร์มีความภาคภูมิใจมาก แม้มีโรงภาพยนตร์ขึ้นมาอีกมากมายก็ไม่สามารถสร้างได้ใหญ่และสวยเท่า ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินงานปรับปรุงและเสริมสิ่งใหม่ๆ ให้กับโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 โรงในสยามสแควร์นี้ ก็เป็นไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศหน้าโรงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของถนนพระราม 1 การติดตั้ง"DOLBY DIGITAL" ที่ได้ติดตั้งก่อนผู้อื่นตามด้วยระบบ SRD DTS SDDS รวมทั้ง SURROUND ที่ติดตั้งก่อนผู้อื่นเช่นกัน และล่าสุดติดตั้ง "OZONE" ให้อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ เพื่อความสุขอีกระดับของผู้ชม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 โรงในสยามสแควร์ ยังคงตรองใจในการให้ความสุขครบถ้วน แก่ผู้ชมภาพยนตร์ทุกท่าน
โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่ง นอกจากจะเป็นผู้นำระบบต่างๆ แล้วยังมีความเป็นผู้นำในการทำร้านเล็กๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีทุนน้อยเริ่มทำงานใหม่ เริ่มต้นจากการเช่าร้านเล็กๆ จากใต้ถุนโรงภาพยนตร์ของเรา ต่อมาเขาสามารถเป็นผู้ส่งออกได้ หรือทำเป็นร้านขายส่งได้ หลายคนที่ประสพความสำเร็จจากการริเริ่มของเรา และต่อมาได้มีคนมาเอาอย่างของเราไปทำกันมากมายในศูนย์การค้าอื่น
ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์
ภาพ: ฟอร์เวิร์ดเมล จากที่นี่ดอทคอม โพสท์โดย Meiko