Monday, 22 March 2010

ความเป็นมาของเพชร





กำเนิดเพชร


เพชร (Diamond) เป็นอัญมณีที่ล้ำค่าและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ในอดีตผู้ที่จะมีไว้ในครอบครองจะต้องเป็นเศรษฐีหรือเชื้อพระวงศ์ เนื่องจากเป็นของที่หายาก


มีความเชื่อแต่อดีตว่าผู้ที่ได้สวมใส่เพชรจะมีอำนาจที่จะป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้ คือมักใช้เป็นเครื่องรางมากกว่าเป็นเครื่องประดับ เพราะฉะนั้น ในอดีตจึงเป็นผู้ชายที่สวมใส่เพชรมากกว่าผู้หญิง


ตำนานโบราณกล่าวไว้ว่า เพชรมีแหล่งกำเนิดมาจากกระดูกยักษ์ชื่อมหาพลสูตรที่คิดจะทำพิธีอดอาหารเพื่อเป็นเกียรติยศให้ปรากฏในแผ่นดิน พอครบ 7 วัน ก็สิ้นชีวิต เทวดาจึงนำกระดูกไปฝังไว้ทุกแห่ง ก็บังเกิดกลายเป็นเพชรรัตน์


ในทางวิทยาศาสตร์ เพชรเกิดจากธาตุคาร์บอน (C ) เกือบบริสุทธิ์ คือประมาณ 99.95% ที่ถูกทับถมอยู่เป็นเวลานานใต้พื้นโลกด้วยแรงกดกว่า 3,000 ตัน อยู่ลึกประมาณ 80 กิโลเมตร ต่อมาหินคิมเบอร์ไลต์ (Kimberite) ได้ดับเพชรขึ้นมาระดับพื้นผิวโลก นอกจากนี้ยังพบเพชรอยู่ในบริเวณ ลานแร่ (Alluvian) อยู่ประมาณร้อยละ 90 ของเพชรที่พบทั้งหมด




ลักษณะและชนิดของเพชร


เพชรเป็นแร่มีรูปร่างผลึก 8 เหลี่ยม หรือ 12 เหลี่ยม มีความโปร่งใส และกึ่งโปรงใส มีประกายแวววาว รอยตำหนิมีเหลี่ยมมุมถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง

เพชรมีหลายสี ตั้งแต่ไม่มีสี จนกระทั่งถึงสีดำ ที่เรียกว่า Carbonado สีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดจากมลทินในผลึก ส่วนใหญ่จะพบไนโตรเจน ซึ่งจะพบอยู่ถึงร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ยังพบซิลิกอน แมกนีเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก แคลเซียม และทองแดง ซึ่งมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก เพชรที่พบอยู่โดยทั่วไปจะมีสี เหลือง หรือน้ำตาลอ่อน เพชรที่ใสไม่มีสี จะมีราคาสูงที่สุดและเป็นที่นิยม แต่เพชรมีสีนั้นค่อนข้างหายาก เช่น สีชมพู หรือสีน้ำเงิน เช่น Hope Diamond เป็นเพชรที่มีสีฟ้า มีชื่อเสียงมาก และชนิดที่หายากที่สุดคือ Red Diamond


เพชรแบ่งออกได้ 4 ชนิด คือ

1. ชนิด la มีไนโตรเจน ประมาณร้อยละ 0.1 ได้แก่ เพชร ที่ขุดตามธรรมชาติ

2. ชนิด lb มีไนโตรเจน ประมาณร้อยละ 0.2 ได้แก่ เพชรสังเคราะห์

3. ชนิด lla ไม่มีไนโตรเจน ชนิดนี้หายากมาก

4. ชนิด llb เป็นเพชรที่มี boron อยู่ในผลึกจะมีสีฟ้า หายากมาก





การเลือกซื้อเพชร


น้ำหนักของเพชรไม่ได้เป็นตัวกำหนดราคาเพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆประกอบด้วย โดยอาศัย 4C ดังนี้


1. CARAT (น้ำหนัก) ขนาดของเพชรยิ่งโตราคายิ่งสูงขึ้น น้ำหนักเพชรใช้วัดเป็น CARAT ซึ่ง 1 CARAT เท่ากับ 0.200 กรัม (200 มิลลิกรัม หรือ 1/5 กรัม) 1 กรัมเท่ากับ 5 CARAT

2. COLOR (สี) เกิดขึ้นจากการรวมตัวทางเคมีของธาตุต่างๆ สีของเพชรมีทุกสี แต่ที่มีค่า ได้แก่ สีทึ่ไม่มีสีอื่นเจือปน (Colorless)

3. LARITY (ความบริสุทธิ์) เพชรแท้ธรรมชาติต้องไม่บริสุทธิ์ 100% ถ้าดูด้วยกล้องขยาย 1,000 เท่า จะมองเห็นเส้นเล็กๆ หรือจุดเล็กๆซึ่งแสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ของเพชรธรรมชาติ

4. CUTTING (การเจียระไน) การเจียระไนมีความสำคัญต่อเพชรมาก ถ้าฝีมือในการเจียระไนสวยจะทำให้เพชรมีประกายสวยขึ้น



แหล่งกำเนิดเพชร

อินเดีย มีการขุดเพชรมากกว่า 5000 ปีมาแล้ว เป็นประเทศแรกที่พบเพชร เพชรที่อินเดียเป็นเพชรมีคุณภาพสูง เม็ดมีขนาดใหญ่ และมีจำนวนมาก เพชรที่มีชื่อเสียงของโลกกว่าครื่งมาจากประเทศอินเดีย

บราซิล เป็นประเทศรองจากอินเดียที่พบเพชร โดยพบในปี พ.ศ. 2288 เพชรที่นี่ไม่สวยเท่ากับอินเดีย เม็ดมีขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ ใช้ในวงการอุตสาหกรรม ขณะนี้มีปริมาณน้อยแล้ว

แอฟริกา เมื่อเพชรที่บราซิลเริ่มน้อยลงก็พบเหมืองใหม่เมื่อ พ.ศ. 2410 ที่แอฟริกาเพชรมีคุณภาพสูง สวยงามและมีเม็ดขนาดใหญ่ ๆ และมีปริมาณมาก

รัสเซีย ในปี ค.ศ. 1970 มีการขุดเพชรที่รัสเซีย เพชรที่รัสเซียปริมาณมากกว่าแอฟริกา แต่เนื่องจากความเป็นประเทศในโลกที่สาม จึงไม่เป็นที่สนใจนัก

นอกจากนี้ยังพบที่ จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย โคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เวเนซุเอล่า โบลิเวีย กิอานา และไซบีเรีย ในประเทศไทยพบที่จังหวัดพังงาปนอยู่ในแหล่งแร่ดีบุก เพชรที่พบเหล่านี้มีขนาดเล็กไม่ถึงหนึ่งกะรัต และมีปริมาณไม่มากนัก

อินเดียเป็นชาติแรกที่รู้จักการเจียระไนเพชร แต่ไม่มีชื่อเรื่องความสวยงามเพราะคำนึงถึงปริมาณเนื้อเพชรมากๆ จนกระทั่ง Vineenti Peruzzi ชาวเวนิสเป็นผู้ออกแบบ Brilliant cut นับเป็นครั้งแรกที่ทำให้นักเจียระไนทั่วโลกได้เห็นไฟ และประการแวววาวที่สวยงามของเพชรเป็นครั้งแรก แต่รูปทรงยังไม่ดีนักโดยในเวลาต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ

แหล่งเจียระไนที่มีชื่อ ได้แก่ เบลเยียม, ฮอลันดา, นิวยอร์ค, ลอนดอน, อิสราเอล และอินเดีย ในปัจจุบันรูปแบบการเจียระไนที่นิยม คือ การเจียระไนเหลี่ยมเกสร (Round Brilliant Cut) ซึ่งมี 57-58 เหลี่ยม ถ้าเพชรมีคุณสมบัติ 4C อย่างใดอย่างหนึ่ง หมายถึง เพชรที่ไม่มีสี มีรูปร่างในการเจียระไนสวยงาม ไม่มีมลทิน





การตรวจสอบว่าเพชรแท้หรือเพชรเทียม


การตรวจสอบว่าเป็นเพชรเทียมหรือเพชรแท้ ต้องทดสอบหลายวิธีประกอบกัน

1. ดูค่าความถ่วงจำเพาะ

โดยหย่อนเพชรที่สงสัยในน้ำยามาตรฐาน ที่มีความถ่วงจำเพาะ 3.52 ถ้าเป็นเพชรแท้จะลอยปริ่มระดับเดียวกับน้ำยา เพชรเทียมส่วนมากจะจม แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับเพชรเทียมที่เป็นพวกแก้ว Topaz , quartz , Synthetic sapphire และ Synthetic spinel เพราะค่าความถ่วงจำเพาะของสิ่งเหล่านี้ใกล้เคียงเพชร

2. ดูค่าดัชนีหักเห

โดยหย่อนเพชรที่สงสัยลงในน้ำยามาตรฐานที่มีค่าดัชนีหักเห 1.743 ถ้าเป็นสารที่มีค่าดัชนีหักเหสูงกว่านี้จะมองเห็นประกายในน้ำยา แต่ถ้าสารนั้นมีดัชนีหักเหต่ำกว่า จะมองไม่เห็นประกาย เพชรเทียมส่วนมากมีค่าดัชนีหักเหสูงกว่านี้ ยกเว้น พวกแก้ว ,Topaz ,quartz , Synthetic sapphire , Synthetic spinel

3. ดูความแข็ง

เป็นวิธีที่แน่นอน เพราะเพชรแท้ต้องถูกคอรันดัมขีดบนหน้าผลึกแล้วไม่เป็นรอย แต่ถ้าขีดบนเพชรเทียมชนิดอื่น ๆ จะเห็นรอยขีด ซึ่งรอยจะชัดเจนแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความแข็งของเพชรเทียมชนิดนั้น แต่วิธีนี้ไม่นิยมใช้เพราะอาจขีดบนแนวแตกเรียบ ซึ่งอาจทำให้เพชรหักบิ่นและเกิดตำหนิได้

4. ทดสอบการนำความร้อน

โดยใช้เครื่องมือตรวจสอบการนำความร้อน ซึ่งใช้แยกเพชรออกจากเพชรเทียม เครื่องมือนี้เรียกว่า เทอร์มอลคอนดัคทิวิตี้โพรบ (Themal conductivity probe ) ซึ่งสะดวกในการพกพา ใช้ได้กับเพชรทุกขนาดและรวดเร็ว

ปัจจุบันผู้ผลิตเพชรเทียมใช้สารเคมีเคลือบผิว เมื่อนำไปทดสอบได้ค่าผิดจากความจริง หรืออาจใช้วิธีทำเทียมแบบประกบ 2 ชั้น คือ เพชรแท้อยู่ด้านบน เพชรเทียมอยู่ด้านล่าง โดยใช้วัตถุใสไม่มีสี หรืออาจจะเป็นชิ้นส่วนของเพชรที่ปะอยู่บริเวณที่เป็น Girdle ของเพชรซึ่งปะติดกันกับชิ้นล่างของเพชรอีกส่วน ซึ่งวิธีปลอมแบบนี้สามารถสังเกตได้ โดยพิจารณาจากรอยต่อและความแตกต่างของเนื้อเพชร

ดังนั้น การตรวจสอบให้ได้ผลที่แน่นอนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทดสอบคุณสมบัติ



ที่มา: อารมณ์ดี (เวบไซค์)

No comments:

Post a Comment